นับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยเอดส์รายแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2527 และมีรายงานผู้ติดเชื้อเอดส์ครั้งแรกของจังหวัดขอนแก่น เมื่อ พ.ศ.2530 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีบทบาทในการรณรงค์ให้ความรู้ ด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคนี้มาโดยตลอด ถึงแม้ว่าในระยะแรกจะต่างคนต่างทำก็ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการ บริการ และวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องของโรคเอดส์ทั้งสิ้น ต่อมาจึงได้เกิดคณะทำงานที่สนใจงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ขึ้นกลุ่มหนึ่ง ที่มาจากคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยได้รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในระยะแรก แต่เมื่อทุกคนได้ตั้งใจทำงานจนมีผลงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ จึงได้รับการเสนอแต่งตั้งจากอธิการบดี เป็นคณะกรรมการบริหารงาน ในด้านที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา
ในนาม "โครงการโรคเอดส์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น" โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
2.เพื่อส่งเสริมการป้องกันและดูแลรักษา ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนของผู้ ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์
3. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในการการหาทุนเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเอดส์
4. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นเอกภาพ ไม่เกิดความซ้ำซ้อน
5. ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเอดส์ ตามที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบหมาย
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการโครงการโรคเอดส์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีประโยชน์ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งด้านการรณรงค์ป้องกัน การวิจัยและการบริการ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์แก่บุคลากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และประชาชนทั่วไป แต่เนื่องจากปัญหาโรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เป็นปัญหาทั้งทางด้าน สาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์จะเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร บุคคลเหล่านี้กำลังเป็นแรงงานและสมองของประเทศนอกจากนี้ เมื่อบิดา มารดา เสียชีวิต ทำให้มีเด็กกำพร้ามากขึ้น เป็นภาระแก่ครอบครัว และสังคม อีกทั้งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา หากไม่มีการควบคุมและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ความสูญเสียจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตระหนักถึงปัญหาโรคเอดส์ ที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆจึงจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปอีกเป็น เวลานาน จนกว่าที่จะมีการค้นพบวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่การดำเนินการในลักษณะโครงการฯ นั้น จำเป็นที่จะต้องมี การกำหนดระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด
คณะกรรมการโครงการโรคเอดส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นว่าขณะนี้เรายังไม่มีองค์ความรู้ที่จะกำหนดได้ว่า โรคเอดส์จะหมดความรุนแรงหรือหยุดการแพร่ระบาดในประเทศไทยเมื่อใด เพื่อให้การทำงานได้กว้างยิ่งขึ้น คณะกรรมการฯจึงมีความเห็นว่า ควรจะเปลี่ยนชื่อจาก โครงการโรคเอดส์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น " สถาบันเอดส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น" ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานที่มีระยะยาวนานและต้องการความร่วมมือในระดับและลักษณะเครือข่ายขององค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามกระบวนทัศน์ใหม่ของการบริหารจัดการใหม่ที่มองปัญหาโรคเอดส์เป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ชุมชน ครอบครัว และบุคคลทุกคนจะต้องเข้ามาร่วมดำเนินการ จึงจะประสบความสำเร็จได้ จึงได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนเป็น สถาบันเอดส์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2543
© Copyright 2013 AIDSKKU
โทร(043)363029-30, (043)347238,202489 โทรสาร(043)348395, (043)347238